แสงลอด กับ แสงรั่ว เป็นคำบรรยายถึงประสิทธิภาพและความสามารถในการควบคุมแสงของตัวพาแนลทีวีที่ใช้หลอดไฟอย่าง LCD/LED TV ซึ่งหลายคนอาจจะได้พบเจอสองคำนี้มาบ้างแล้วทั้งจากรีวิวทีวีจากเว็บเราหรือจากพนักงานขายหน้าร้านก็ตาม วันนี้มีโอกาสเหมาะผมเลยจะมาอธิบายความหมายที่แท้จริง พร้อมยกตัวอย่างอาการดังกล่าวมาให้ทุกท่านได้เข้าใจเข้าถึง จนสามารถนำไปปรับใช้เมื่อต้องการเลือกซื้อทีวีด้วยตัวเองได้
1. แสงลอด
เริ่มกันที่ “แสงลอด” ก่อนละกันครับ แสงลอดนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแบบปกติของทีวีที่ใช้แหล่งกำเนิดแสงแบบหลอดไฟ โดยจะมีอาการที่เห็นได้ชัดคือตัวจอภาพเมื่อแสดงสีดำจะไม่ดำสนิทเหมือนปิดไฟ แต่จะเป็นสีเทาโพลนๆ ที่ทั่วถึงทุกพื้นที่การแสดงผลของจอ ดูตัวอย่างในรูปด้านล่างได้เลยครับ
แสงลอด สว่างทั่วทั้งจอแบบนี้ เป็นเรื่องปกติที่ไม่ต้องตกใจอะไรครับ
พวกสมาร์ทโฟนก็เป็นกัน ถือว่าเป็นเรื่องสามัญประจำเครื่องของจอหลอดไฟ
ภาพจากจอ iPad, iPhone ที่เห็นแสงลอดออกมาตอนเปิดเครื่อง ซึ่งตอนใช้งานจริงเรามักจะไม่ค่อยสังเกตุเห็นเท่าไร
สาเหตุของอาการผมต้องขอทบทวนสักนิดว่าหลักการกำเนิดภาพของทีวีจำพวก LCD, LED จะเป็นการใช้หลอดไฟส่องแสงผ่านทางพาแนลจนออกมาเป็นภาพขึ้นมา ฉะนั้นแล้วประสิทธิภาพในการควบคุมแสงที่ผ่านออกมาจึงขึ้นอยู่กับคุณภาพของพาแนล ทีวียิ่งเทพ เราก็ยิ่งพบเห็นแสงลอดน้อยลง มันจึงไม่ใช่อาการผิดปกติจากการประกอบหรือข้อผิดพลาดระหว่างการขนส่งแต่อย่างใด
2. แสงรั่ว
แสงรั่ว คืออาการที่จอภาพแสดงแสงได้ไม่เท่ากันตามบริเวณจอ บ้างก็สว่างตามมุม บ้างก็รั่วสว่างเป็นเส้นๆ สาเหตุหลักเกิดมาจากพาแนลได้รับความเสียหาย ทำให้ไม่สามารถบล็อคแสงจากหลอดไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนแต่ก่อน ทำให้แสงจากแหล่งกำเนิดสามารถรั่วออกมาจนสังเกตุได้
แสงรั่วจะขาวเป็นจุดๆ ตามตำแหน่งที่รั่ว เป็นอาการผิดปกติที่เกิดจากพาแนลมีปัญหา
ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่ามีอาการช้ำจากการขนส่ง หรือเป็นข้อผิดพลาดจากการประกอบ
แนวทางการแก้ไขอาการเบื้องต้น
1. ปรับลด Backlight ลงในขณะรับชมเวลากลางคืน หรือจะเลือกเปิดโหมด ECO ที่จะคอยปรับลดจอตามสภาพแสงไว้ก็ได้ครับ
2. เปิดการใช้งาน LED Local Dimming เพื่อให้ตัวจอควบคุมการเปิด-ปิด หลอดไฟเป็นหย่อมๆ แทนที่จะเปิดสว่างไว้ทั้งจอ ซึ่งจะมีให้เลือกปรับเฉพาะทีวีรุ่นกลางๆ ไปจนถึงรุ่นเรือธงเท่านั้น
แล้วมีทีวีที่ไม่มีสองอาการดังกล่าวไหมล่ะ?
มีครับ นั่นก็คือ Plasma TV และ OLED TV ที่เม็ดพิกเซลสามารถส่องสว่างได้เองไม่ต้องใช้ไฟช่วย ซึ่งในปัจจุบัน Plasma เป็นเทคโนโลยีที่เก่าและเริ่มตายลงไปเรื่อยๆ ซึ่งหลายแบรนด์ได้ยกเลิกการผลิตไปแล้ว ก็เหลือแต่ต้องรอให้เทคโนโลยี OLED TV ถูกลงมาเท่าๆ กับ LED TV ในปัจจุบัน เราจึงจะได้สัมผัสกับจอภาพที่คุมแสงได้อย่างยอดเยี่ยม
ซ้ายมือคือจอ OLED TV ขวามือคือ LED TV จะเห็นว่าการคุมแสงแตกต่างกันอย่างชัดเจน
จากที่ทีมงานได้ทดสอบทีวีมากว่าร้อยตัว ตั้งแต่รุ่นโบราณที่แสงรั่วระเบิดเถิดเทิงยันรุ่นปัจจุบันที่การควบคุมปริมาณแสงทำได้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่า พบว่าอาการแสงรั่ว,แสงลอด มักจะเห็นได้ชัดเจนเฉพาะตอนกลางคืนในห้องที่คุมแสงมิดชิดเท่านั้น ที่สำคัญต้องเป็นฉากมืดๆ อีกด้วย ฉะนั้นแล้วอาการดังกล่าวหากไม่ได้หนักหนาขนาดจอช้ำเป็นปื้นขาวจั๊วะ ก็จะไม่ส่งผลร้ายแรงต่อการรับชมเท่าไรนัก ยิ่งเป็นตอนกลางวันด้วยล่ะก็ยิ่งสังเกตุเห็นได้ยาก หรือจะลองปรับค่าตามแนวทางการแก้ไขด้านบนก็สามารถช่วยบรรเทาอาการได้เช่นเดียวกันครับผม
แหล่งที่มา : อาการทีวีแสงรั่ว คืออะไร? จำเป็นต้องซีเรียสมากมะ!? ค้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564
www.lcdtvthailand.com/article/tv-backlight-break-should-we-serious